บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ทฤษฎีของการสะกดจิต

ผมไปอ่านพบบทความเรื่อง “ทฤษฎีที่ใช้ในการสะกดจิต” ก็เลยเอามาเผยแพร่ต่อ  

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ การสะกดจิตนั้น เป็นวิทยาศาสตร์ในสาขาจิตวิทยา  เมื่อเป็นวิทยาศาสตร์ก็ต้องมีทฤษฏี  ผมถึงต้องนำทฤษฎีมาเผยแพร่ด้วย

ถ้าถามว่า ทำไมถึงต้องลงทุนกันขนาดนั้น  คำตอบก็คือ ถ้าคนทั้งโลกยอมรับว่า “การสะกดจิต” เป็นความจริง  วิชาธรรมกายก็ควรจะเป็นความจริงด้วย เพราะ ทั้ง 2 อย่างนั้น มีลักษณะเหมือนกันหลายประการ

บทความดังกล่าว น่าจะแปลมาจากภาษาอังกฤษ สำนวนภาษาชี้ไปให้เห็นอย่างนั้น  ก็อ่านไปเลยก็แล้วกัน ผมตัดข้อความบางส่วนออกบ้าง เพื่อให้ข้อความกระชับลง

ทฤษฎีจิตใต้สำนึก

ทฤษฎีนี้ได้ถูกค้นพบโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันคนหนึ่ง เป็นการพูดถึงจิตใต้สำนึกของคนเรา ว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อน แต่หากว่าสามารถควบคุมมันได้ก็จะทำให้เราควบคุมจิตใจและการกระทำของคนอื่นได้

หลายคนนั้นอาจยังคงไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่แท้จริงของจิตใต้สำนึก เพราะในชีวิตประจำวันนั้นเราพบเจอคำนั้นไม่ค่อยบ่อยนัก

จิตใต้สำนึกนั้นแท้จริงก็คือสิ่งที่คนแต่ละคนมีติดตัวอยู่แล้ว แต่มีการนำมาใช้บ้างในบางเวลา เป็นจิตที่อยู่นอกเหนือเหตุผล เป็นการใช้เรื่องของความรู้สึก และความเคยชินมาตัดสินใจในการกระทำอะไรบางอย่าง

ดังตัวอย่างเช่น หากเรากำลังเดินทางกลับบ้าน แต่ในใจของเรานั้นคิดแต่เรื่องงานตลอดเวลา โดยไม่ค่อยได้สนใจกับการเดินทางมากเท่าไหร่ แต่สุดท้ายเราก็สามารถเดินทางกลับถึงบ้านด้วยความปลอดภัย เหมือนทุกวัน

ทำไมทั้งที่จิตใจไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่รอบข้างเท่าที่ควร แต่เราก็สามารถสั่งร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ นั่นเป็นเพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า “จิตใต้สำนึก” นั้นถูกปลุกขึ้นมาทำงานแทน ซึ่งมันก็มีประสิทธิภาพสั่งการให้ร่างกายทำงานใกล้เคียงกับภาวะที่จิตใจธรรมดา

เรื่องของจิตใต้สำนึกนั้นเป็นที่สนใจของบรรดานักจิตวิทยามานานแล้ว มีการทดลองหลายต่อหลายโดยที่พยายามที่จะสะกดจิตที่เป็นจิตใต้สำนึก ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี

โดยในการทดลองนั้นทางด้านนักสะกดจิตนั้น จะสั่งให้ผู้ที่ถูกสะกดจิต นั้นมีความรู้สึกร้อนเหมือนอยู่กลางทะเลทราย ทั้งที่จริงแล้ว ในขณะนั้นเป็นฤดูหนาวที่มีภูมิอากาศติดลบ แต่ผู้ถูกสะกดจิตก็รู้สึกร้อนถอดเสื้อผ้าออกและอาบน้ำเย็น โดยไม่รู้สึกหนาวแม้ แต่น้อย

ในการทดลองบางครั้ง ก็จะพยายามให้ผู้ถูกสะกดจิตนั้นสวมบทบาทเป็นบางสิ่งบางอย่าง อย่างเช่น หากผู้สะกดจิตสั่งให้ผู้ถูกสะกดจิตเป็นสุนัขก็จะมีท่าทาง อากัปกิริยาท่าทางคล้ายกับสุนัข

หรืออาจสั่งให้เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันดี เช่น สะกดจิตให้คิดว่าตนเองเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้ก็จะมีท่าทางลักษณะ รวมทั้งการพูดจาคล้ายกับตนเองเป็นฮ่องเต้จริงๆ

ในประเทศไทยเอง เรื่องของการสะกดจิตใต้สำนึก เรามักพบเห็นในการเข้าทรงตามที่ต่างๆ เป็นการสะกดจิตตนเองของเจ้าทรงทำให้คิดว่าตนเองเป็น เจ้าที่มีอิทธิฤทธิ์ ซึ่งในบางรายก็สามารถดื่มเหล้าทีละหลายๆ ขวดติดต่อกัน หรือสูบบุหรี่ทีละหลายๆ มวน แต่ไม่มีความรู้สึกเมาแต่อย่างไร

นั่นเป็นเพราะจิตใต้สำนึกนั้น ถูกสะกดให้คิดว่าทำได้ จึงสั่งให้ร่างกายไม่มีอาการเมาอย่างที่เห็น

จากตัวอย่างการสะกดจิตใต้สำนึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่าจิตใต้สำนึกนั้น เมื่อถูกสะกดก็จะไม่สนใจในเรื่องของเหตุผลหรือผลลัทธ์ จิตใต้สำนึกนั้นจะไม่สามารถแยกแยะ เลือกสรรและเปรียบเทียบสิ่งใดๆได้เลย

จิตใต้สำนึกจะยอมรับคำสั่งใดคำสั่งหนึ่ง แล้วก็จะปฏิบัติไปตามนั้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทางนักจิตวิทยาสมัยใหม่ได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต และก็ได้ผลลัทธ์ออกมาดีระดับหนึ่งทีเดียว

ทฤษฎีปฏิกิริยาสั่งใต้สำนึก

นี่เป็นหนึ่งในทฤษฎีการสะกดที่มีอิทธิพลในหลายๆด้าน ในยุคศตวรรษที่ 20 มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ทฤษฎีปฏิกิริยาสั่งใต้สำนึกนั้นถูกแบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือ“ปฏิกิริยาสั่งใต้สำนึกอย่างแคบ” เป็นการสั่งให้จิตใจของเรามีความรู้สึกบางอย่าง โดยการใช้สิ่งเร้าจากภายนอก

ดังตัวอย่างเช่น หากเราได้เข้าไปในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ก็จะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขไปด้วย แต่หากว่าเราเข้าไปร่วมงานศพก็จะรู้สึกเศร้าสลด

ในการเข้าทรงมักจะมีการปักธูปเทียน กำยาน รวมทั้งมีการตั้งแสงไฟให้สลัว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ต่อจิตใจเราทำให้เราเคารพและเกรงกลัวต่อเจ้าทรง และสุดท้ายก็เชื่อในสิ่งที่เจ้าทรงพูด

วิธีการดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่เหล่ามิจฉาชีพนำไปดัดแปลงและใช้หลอกลวงเหยื่อมากมาย

แม้แต่สถานเริงรมย์หลายแห่งนิยมที่จะเปิดไฟสลัว รวมทั้งมีการประดับประดาด้วยสิ่งของมากมายให้น่าสนใจ ซึ่งนั่นก็เป็นตัวดึงดูดอย่างหนึ่งให้มีลูกค้ามาเข้าร้านมากขึ้น

หากว่ากันตามหลักของจิตวิทยา สิ่งเหล่านี้ล้วนชักนำให้จิตของเราคล้อยตามสิ่งเหล่านั้น แม้ว่าจะไม่มีผลรุนแรงเท่าการสะกดจิตจากนักสะกดจิตโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นการสะกดอย่างอ่อนๆ ตรงกับ ทฤษฎีปฏิกิริยาสั่งใต้สำนึก

อย่างที่สองเรียกว่า “ปฏิกิริยาสั่งใต้สำนึกอย่างกว้าง”เป็นลักษณะของการสั่งการจิตโดยผ่านทางสัมผัสทั้ง ตาที่ใช้มองเห็นภาพ ลิ้นที่คอยรับรสชาติ จมูกที่คอยสูดดมกลิ่น หูที่คอยฟังเสียง ผิวกายที่คอยสัมผัสสิ่งของต่างๆ ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นช่องทางที่กำหนดความรู้สึกภายในจิตใจของเราให้เป็นไปตามที่ได้รับมา

ตัวอย่างเช่น หากเราได้กินมะขามที่มีรสเปรี้ยวจัด เมื่อมะขามสัมผัสโดนลิ้นก็จะมีความรู้สึกเปรี้ยว หากว่าเราได้เห็นสีแดงก็จะทำให้รู้สึกถึงความฮึกเหิม สนุกสนาน นั่นเป็นปฏิกิริยาสั่งใต้สำนึกอย่างกว้าง

ในการทดลองนักสะกดจิตนั้นสามารถ ทำให้ผู้ถูกสะกดจิตนั้นรู้สึกในกับสิ่งเร้า ในลักษณะที่แปลกออกไป อย่างเช่นให้คนอื่นทานพริกที่เผ็ดมาก แต่ผู้สะกดจิตสั่งจิตของคนอื่น โดยกำหนดว่านั่นเป็นน้ำตาล คนที่ถูกสะกดจิตก็จะรู้สึกหวานเหมือนได้ทานน้ำตาลเอง

นอกจากนั้นหากนักสะกดจิตสั่งให้ผู้ถูกสะกดจิตนั้นไม่ให้อ้าปากหรือลืมตา ผู้ถูกสะกดจิตก็จะไม่สามารถอ้าปากหรือลืมตาได้รวมทั้งยังสามารถกำหนดการเคลื่อนไหวหรือการรับรู้อย่างอื่นได้อีก นั่นเป็นการแสดงถึงผลของปฏิกิริยาการสั่งใต้สำนึก

ทฤษฎีนึกคิดผูกพัน

หลักการของทฤษฎีนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังมีการยอมรับและนำไปใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ผู้ที่ตั้งทฤษฎีนึกคิดผูกพัน ขึ้นมาคือ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่าง“อริสโตเติล” ซึ่งต่อมาภายหลังในยุคของชาวยุโรปเรืองอำนาจ แนวคิดนี้ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาและมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

หลักการของทฤษฎีนึกคิดผูกพัน นั้นกล่าวว่าคนเรานั้นมักจะมีความนึกคิดอย่างหนึ่ง ควบคู่กับสถานการณ์อย่างหนึ่งเสมอ ซึ่งนั่นอาจเกิดจากประสบการณ์ที่พบด้วยตนเอง คำบอกของผู้ที่น่าเชื่อถือ

รวมทั้งจินตนาการที่เกิดจากความนึกคิดของตนเอง ซึ่งในคนแต่ละคนนั้นอาจจะมีคล้ายกันหรือต่างกันก็ได้

ตัวอย่างเช่น หากว่าเราเดินทางไปในป่าเวลากลางคืนคนเดียว ในขณะนั้นเห็นเงาเคลื่อนไหวอยู่หลังพุ่มไม้ นั่นทำให้เราคิดไปว่า เป็นภูตผีปีศาจ เพราะเคยได้ยินเรื่องเล่ามาจากผู้เฒ่าผู้แก่

หรืออาจคิดว่านั่นเป็นเพียงนายพรานที่มาดักสัตว์ป่าเวลากลางคืนเท่านั้น เพราะป่าบริเวณนี้มีสัตว์ให้ล่าจำนวนมาก หรือไม่ก็คิดว่าเป็นโจรที่มาดักปล้น เพราะเคยมีประสบการณ์โดนปล้นในป่าบริเวณนี้มาก่อน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความนึกคิดผูกพันที่เกิดมาจากอดีต ทำให้จิตใต้สำนึกนั้นสั่งการให้ร่างกายและความคิดทำงานตอบสนองในสถานการณ์แต่ละแบบแตกต่างกันไป ซึ่งนั่นไม่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ว่าจะถูกหรือผิด

ในการทดลองนั้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์เรานั้น มีความรู้สึกที่ฝังใจอยู่มาก จนทำให้มีผลต่อการตัดสินใจกับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งนั่นทำให้คนบางกลุ่มนั้นวิตกกังวลเกินไปจนเกิดเป็นอาการป่วยได้

ซึ่งวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดก็ต้องเริ่มจากคลายปมที่ยังฝังใจออกให้หมด นักจิตวิทยามักใช้การสะกดจิตเป็นหนทางหนึ่งในการรักษา ซึ่งก็ได้ผลดีมาก

ทฤษฎีความขนานกันทางวัตถุกับจิตใจ

ทฤษฎีความขนานกันทางวัตถุกับจิตใจเป็นทฤษฎีที่ถูกพัฒนามาจากทฤษฎีความขนานกันของเอกพันธ์ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากวิชาปรัชญานี่เอง

ภายหลังชาวญี่ปุ่นได้นำทฤษฎีนี้ไปปรับปรุงเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึง 10 เท่า จึงทำให้ทฤษฎีความขนานกันทางวัตถุกับจิตใจ นั้นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยแพร่หลาย

ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับกันมากในนักสะกดจิตยุคปัจจุบัน เพราะมีผลลัพธ์ที่รวดเร็วน่าเชื่อถือได้ นอกจากการศึกษา หรือใช้ในการรักษาทางการแพทย์แล้ว ในวงการมายากลก็ใช้กันมาก เป็นหลักการพื้นฐานในการกำหนดจิตของผู้ชม

หลักการของทฤษฎีนี้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของวัตถุที่มีการขนานกับการเคลื่อนไหวของจิตใจ การเคลื่อนไหวของทั้งสองสิ่งนั้นต้องอยู่ในทิศทางเดียวกัน แต่ต้องขนานกัน การเปลี่ยนแปลงของวัตถุนั้นจะส่งผลทำให้จิตใจเปลี่ยนไปด้วย

ในการทดลองเช่น การให้ผู้ถูกสะกดจิตนั้นมองลูกตุ้มขนาดเล็กที่กำลังแกว่งช้าๆ ไปมาในอากาศ จากซ้ายไปขวาและขวาไปซ้ายอย่างต่อเนื่อง จิตใจของผู้ที่ถูกสะกดจิตก็จะติดตามการแกว่งของลูกตุ้มไปมา

แต่หากว่าในขณะหนึ่งเราหยุดลูกตุ้มไม่ให้ขยับไปไหน จิตของผู้ถูกสะกดจิตก็จะหยุดนิ่งตามลูกตุ้มไปด้วย

ในการแสดงมายากลนั้นก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่ถูกนำมาพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์ โดยที่นักมายากลจะพยายามให้ผู้ชมดูวัตถุสิ่งหนึ่งในมือ อาจเป็นไพ่หรือผ้าอะไรก็ได้

พยายามพูดโน้มน้าวให้ผู้ชมจิตใจจดจ่อกับสิ่งนั้น ทำให้ถูกสะกดจิตไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่นักมายากลจะสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมาหรือหายไป ทำให้เราเกิดความพิศวง

การชักจูงจิตใจผู้ชมนั้นเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของนักมายากล นักมายากลที่เก่งย่อมต้องเป็นนักสะกดจิตที่เก่งด้วย ต้องทำให้จิตของตนเองเข้มแข็งและสามารถควบคุมจิตของผู้ชมทั้งหมดได้ หากเราเข้าใจและทำได้ระดับนี้ เชื่อว่าใครก็สามารถเป็นนักมายากลได้

ทฤษฎีความขนานกันทางวัตถุกับจิตใจ หากจะว่าไปก็คือการเพ่งจิตกับวัตถุสิ่งหนึ่ง และรับรู้การเคลื่อนไหวเป็นไปของมัน

ด้วยทฤษฎีนี้เชื่อกันว่า หากเราใช้จิตของเราที่มีลักษณะเหมือนคลื่นไฟฟ้าเพ่งมองบุคคลใดบุคคลหนึ่งจากที่ห่างไกล เราจะสามมารถมองเห็นรับรู้การเคลื่อนไหวของเขาเหล่านั้น

เปรียบเสมือนการเข้าฌาน จนสามารถมีหูทิพย์ ตาทิพย์ จนมองเห็นหรือได้ยินเสียงของคนที่เราต้องการได้จากระยะทางไกล

ทฤษฎีกิริยาของสรีรศาสตร์

ทฤษฎีกิริยาของสรีรศาสตร์เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยา ที่มีการใช้เรื่องของสรีรศาสตร์มาเกี่ยวข้อง โดยผู้ที่ค้นคิดขึ้นมานั้นเป็นนักสรีรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

ทฤษฎีนี้มีการทดลองค้นคว้ามาเป็นเวลานาน หลายคนยังมองว่าทฤษฎีนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่น่าเชื่อถือได้ นอกจากนั้นหลักการที่ใช้ยังคงสับสนและยังไม่น่าจะใช้สะกดจิตมนุษย์ได้

หลักการของทฤษฎีกิริยาของสรีรศาสตร์นั้นกล่าวว่า การที่มนุษย์เรานั้นสามารถเคลื่อนไหวได้ สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างทุกวันนี้ มีที่มาจากการสั่งการของสมอง สั่งให้อวัยวะกล้ามเนื้อในบริเวณต่างๆ นั้นขยับหรือหยุดได้ตามชอบใจ

นั่นเป็นการแสดงว่าสมองนั้น มีพลังงานทางจิตอยู่ เป็นพลังงานหลักที่มนุษย์ใช้ ส่วนที่มาของพลังสมอง นั้นมาจากเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง รวมทั้งออกซิเจนที่ได้มาจากระบบการหายใจอีกด้วย ทั้งสองสิ่งนั้นเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่คอยขับเคลื่อนให้สมองทำงาน

หลักการที่จะใช้ในการสะกดจิตคือต้องลดบทบาทของสมองของผู้ถูกสะกดจิตที่สั่งการร่างกาย เมื่อลดได้นักสะกดจิตก็จะใช้คำสั่งนั้นสั่งการร่างกายของผู้ถูกสะกดจิตแทน ซึ่งก็จะสามารถสั่งการให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ

วิธีการที่ทำให้สมองลดบทบาทได้นั้น ต้องทำให้ผู้ถูกสะกดจิตนั้นอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น เพราะเป็นภาวะที่เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองในปริมาณน้อยกว่าปกติ

ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองนั้นน้อยตามไปด้วย ทำให้นักสะกดจิตมีโอกาสเข้าไปแทรกแซงและออกคำสั่งแทนสมองได้

หากว่าเราสังเกตให้ดีในการสะกดจิตแทบทุกครั้งและแทบทุกแบบ ผู้ถูกสะกดจิตนั้นมักอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น เพราะเป็นภาวะที่สามารถสะกดจิตได้ง่ายที่สุด แทบจะไม่เคยเห็นว่าการสะกดจิตนั้นทำขึ้นในภาวะที่ร่างกายและสมองนั้นตื่นตัวเต็มที่

ซึ่งอาจมาจากเหตุผลที่ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่พลังของสมองนั้นมีพลังสูง จนยากที่จะควบคุมได้ แม้ว่าหลักการของทฤษฎีกิริยาทางสรีรศาสตร์ นั้นยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร แต่ก็มีการไปใช้ในวงการสะกดจิตมากและนั่นย่อมแสดงถึงคุณค่าของทฤษฎีนี้

ทฤษฎีกิริยาของจิต

ทฤษฎีกิริยาของจิตเป็นทฤษฎีที่ถูกค้นพบโดยนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง เป็นหนึ่งในทฤษฎีการสะกดจิตที่เป็นที่แพร่หลายและยอมรับกันมากทั่วโลก เป็นที่เชื่อกันว่าทฤษฎีกิริยาของจิตเป็นทฤษฎีที่เป็นหลักในการสะกดจิตมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ทฤษฎีนี้ได้กล่าวอ้างถึงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติเป็นหลัก เชื่อว่าจิตของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่คล้อยตามธรรมชาติที่พบเห็น โดยเห็นว่าการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกวันนี้ มักจะเป็นผู้ที่รับมากกว่าเป็นผู้ให้ ทำให้ชีวิตนั้นต้องคอยปรับตัวตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมา

จิตเองก็เป็นสิ่งที่ต้องคอยโน้มเอียงตามสิ่งแวดล้อมไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลักการของทฤษฎีนี้ก็คือการใช้ความโน้มเอียงของจิตใจที่มีต่อสภาพแวดล้อม เป็นตัวแปรช่วยในการสะกดจิตให้เกิดประสิทธิภาพ

ดังเช่นตัวอย่างที่ว่า หากเราพบเพื่อนคนหนึ่ง แล้วเขาทักเราว่าดูอ่อนเพลียน่าจะไม่สบาย ในตอนแรกอาจะยังไม่รู้สึกอะไรมาก แต่พอมีเพื่อนมาทักในลักษณะเดียวกันอีก 2-3 คน ทำให้จิตใต้สำนึกนั้นเชื่อว่าเราเองกำลังไม่สบาย

เมื่อจิตเชื่อก็จะสั่งให้ร่างกายเชื่อตาม ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้ร่างกายของเราไม่สบายขึ้นมาจริงๆ

ในกรณีนี้การที่เราป่วยหรือไม่สบายขึ้นมาเกิดจากภาวะถูกสะกดจิตใต้สำนึก ไม่ได้เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บตามปกติ จะเห็นได้ว่าทฤษฎีนี้มักถูกใช้กันมาก

ทั้งในเรื่องของการเล่นกีฬาที่บรรดาโค้ชและเจ้าหน้าที่ทีมจะช่วยกันทำให้นักกีฬานั้นมีความมั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะ หรือในเรื่องของการแสดงที่ทำให้นักแสดงนั้น แสดงศักยภาพทางการแสดงออกมา ได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างที่พูดถึงทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการใช้ทฤษฎีกิริยาของจิตในการควบคุมจิตใจของผู้อื่นอย่างอ่อนๆ เท่านั้น หากว่าเจอกับผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น วิธีการดังกล่าวอาจจะใช้ไม่ได้ผล ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร

ในการสะกดจิต โดยใช้ทฤษฎีกิริยาของจิตให้ได้ผลในระดับดีขึ้นไปนั้น ต้องให้ผู้ถูกสะกดจิตนั้นอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นหรือไม่ก็หลับไปเลยเสียก่อน ทำให้เกิดภาวะที่รับคำสั่งสั่งโดยที่ไม่มีความสงสัย พะวง หรือความนึกคิด

หากไม่ทำเช่นนี้จิตของผู้ถูกสะกดจิตก็จะต่อต้านคำสั่งของผู้สะกดจิต จะมีการคิดคำนวณ หาเหตุผลประกอบในการกระทำ จนสุดท้ายก็ทำให้จิตนั้นเกิดการเคลื่อนไหวที่คัดค้าน และส่งผลให้การสะกดจิตนั้นไม่ได้ผล

หากจะสรุปทฤษฎีกิริยาของจิต นั่นก็คือวิธีการสะกดจิตโดยที่ใช้สภาพแวดล้อมเป็นตัวโน้มเอียงจิตใจให้เชื่อ จากนั้นจึงใช้คำสั่งที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ จะทำให้ให้จิตของผู้ถูกสะกดจิตนั้นเชื่อฟังและโน้มเอียงไปตามคำสั่งนั้นได้ง่าย

หากต้องการให้การสะกดจิตนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ควรทำให้จิตของผู้ถูกสะกดจิตอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น

ทฤษฎีปฏิกิริยาล่วงหน้า

ทฤษฎีปฏิกิริยาล่วงหน้า เป็นทฤษฎีที่มาจากนักปราชญ์ชาวเยอรมัน โดยพูดถึงภาวะของจิตใจเมื่อเจอกับสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะเกิดความคาดหมายของจิตว่าน่าจะเกิดอย่างนั้นหรือเกิดอย่างนี้ ซึ่งมันอาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้

ดังตัวอย่างเช่นหากเราแข่งขันวิ่งมาราธอน เราก็จะวิ่งเต็มที่สุดความสามารถของเรา นั่นเป็นเพราะว่าเชื่อว่าเราก็มีโอกาสชนะเลิศในการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่เข้าแข่งขันย่อมมีความเชื่อว่าตนเองจะเป็นผู้ชนะเช่นกัน

ความเชื่อเหล่านี้เกิดจากปฏิกิริยาของจิตที่คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ว่ามีความน่าจะเป็นอย่างนั้น เมื่อจิตเชื่ออย่างนั้นย่อมจะสั่งการมายังร่างกายให้ทำอย่างเต็มที่

อาจจะพูดได้ว่าการแข่งขันกีฬาอะไรก็ตาม ความเชื่อของจิตนั้นส่งผลถึงชัยชนะด้วย คนมีจิตที่มีความเชื่ออย่างแรงกล้ามากกว่าย่อมมีโอกาสที่จะชนะมากกว่าด้วย

นอกจากนั้นในทฤษฎีปฏิกิริยาล่วงหน้า ยังกล่าวไว้ว่าบรรดาผู้ที่ศึกษาหรือฝึกการสะกดจิตนั้น ต่างมีต้นตอมาจากแห่งเดียวกันทั้งนั้น

อีกทั้งบรรดาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสะกดจิตนั้นล้วนแต่มีความสัมพันธ์กัน สอดคล้องกันอย่างไม่มีข้อขัดแย้ง ซึ่งนั่นแล้วแต่ว่าใครจะนำทฤษฎีหรือความรู้ไหนไปใช้เท่านั้น

ทฤษฎีปฏิกิริยาล่วงหน้า นั้นก็เป็นเพียงหนึ่งในความรู้ทางด้านการสะกดจิตเหล่านั้น ซึ่งมีข้อดีคือสามารถทำให้เกิดผลกับผู้ถูกสะกดจิตฝ่ายเดียว และยังสามารถทำให้เกิดผลกับทั้งผู้สะกดจิตและผู้ถูกสะกดจิตทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ด้วยเอกลักษณ์ในข้อนี้จึงทำให้ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับกันมาก

การสะกดจิตโดยส่วนมากแล้วผู้ที่สะกดจิต นั้นย่อมมีความเชื่อว่าตนเองนั้นทำได้ และสามารถทำให้อีกฝ่ายตกอยู่ในการควบคุมได้ ซึ่งก็มักจะประสบความสำเร็จ เพราะเกิดจากจิตที่มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ

ในขณะเดียวกัน หากว่าผู้ถูกสะกดจิตนั้นมีจิตใจที่ยอมให้สะกดจิตโดยง่าย ย่อมจะเป็นการส่งเสริมให้การสะกดจิตนั้น ประสบผลสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น

ดังนั้นการสะกดจิตที่ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องเกิดจากการยินยอมร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ดังที่เราจะเห็นได้ว่าแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคจิต โดยใช้วิธีการสะกดจิตต้องมีการพูดคุย ทำความรู้จักกับผู้ป่วยจนสนิทสนมระดับหนึ่ง

และบอกกล่าวถึงเรื่องการรักษาโดยการสะกดจิตเสียก่อน เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยนั้นเปิดใจให้สะกดจิตโดยง่าย และส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยนั้นทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทฤษฎีเกี่ยวกับการสะกดจิตทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีการและความรู้อีกมากมายที่ใช้ในการสะกดจิต ซึ่งนั่นก็ต้องศึกษากันต่อไป แต่ทฤษฎีที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น เป็นทฤษฎีที่รู้จักกันมากในหมู่นักสะกดจิตและนักจิตวิทยา


การที่จะทำการสะกดได้ผลหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงเท่านี้ ยังต้องมีองค์ประกอบอีกมาก ที่สำคัญที่สุดคือนักสะกดจิตเองต้องเป็นผู้ที่ฝึกฝนทางจิตมามากพอสมควรจนจะทำให้การสะกดจิตนั้นได้ผลเต็มที่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น